หลักการทำงานของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน (เครื่องยนต์เบนซิน)
รถยนต์ที่เติมน้ำมันเบนซินที่ใช้งานในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องยนต์สี่จังหวะ คือเครื่องยนต์จะทำงานเป็นจังหวะซ้ำกันอย่างต่อเนื่องตามลำดับดังนี้:
1. จังหวะดูด 2. จังหวะอัด 3. จังหวะระเบิด 4. จังหวะคาย
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างราบเรียบมีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการที่ต้องสมบูรณ์ดังต่อไปนี้:
- ส่วนผสมระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงที่ดี เหมาะสมทุกภาระโหลด
- กำลังอัดดี คือต้องได้กำลังอัดตามการออกแบบเครื่องยนต์นั้นๆ และเท่าๆกันทุกสูบ
- ประกายไฟที่หัวเทียนดี และจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสม
ถ้าคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว จะทำให้รถยนต์คันนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ปัญหาของเครื่องยนต์เบนซิน
ตอนที่ 1
รถยนต์เมื่อได้ถูกใช้งานไปเป็นเวลานาน ไม่วันใดก็วันหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว หรือเครื่องยนต์ที่ถูกดัดแปลงมาสลับใช้แก๊สก็ตาม แต่ถ้าคุณมีความเข้าใจเรื่องเครื่องยนต์บ้าง คุณก็จะสามารถวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นได้
ปัญหาหลัก ๆ ของเครื่องยนต์เบนซิน และหรือเครื่องยนต์ที่ถูกดัดแปลงมาสลับใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง มี 3 ประการใหญ่ ๆ คือ
1. ส่วนผสมของเชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะสม
2. กำลังอัดในกระบอกสูบมีไม่มากพอ
3. ประกายไฟที่กระโดดข้ามเขี้ยวหัวเทียนแรงไม่พอ
นอกจากปัญหาหลักๆ ทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพอาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลโดยตรงกับปัญหาหลักทั้งหมดนี้ได้ ดังนั้นถ้าท่านพบความผิดปกติควรนำรถเข้าตรวจเช็คละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการแก้ไขให้ตรงจุด จะทำให้รถของท่านอยู่รับใช้ท่านไปอีกนาน
ปัญหาของเครื่องยนต์เบนซิน
ตอนที่ 2 (ส่วนผสมของเชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะสม)
เมื่อท่านผู้ขับขี่พบปัญหาว่ารถของท่านมีอาการผิดปกติ อาจจะพบว่า
1. เครื่องยนต์สตาร์ทติดยาก ลากยาว ต้องสตาร์ทหลายครั้งกว่าจะติด
2. เครื่องยนต์สั่นขณะเดินเบา
3. รถเกิดอาการกระตุกรอบตกอย่างรุนแรงช่วงภาระโหลดของเครื่องยนต์เปลี่ยนแปลง เช่น แอร์ทำงาน เข้าเกียร์
4. ออกตัวสะดุด รถไม่มีแรง เหยียบไม่ขึ้น เป็นต้น
สาเหตุอาจเกิดจากอัตราส่วนผสมระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงที่จ่ายเข้าไปไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจาก ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง แรงดันต่ำกว่าค่าที่ถูกออกแบบไว้ ต้องทำการตรวจเช็คแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง กรอง ท่อทาง และหัวฉีดน้ำมัน เป็นต้น
ถ้าเป็นรถที่ติดตั้งแก๊สก็เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าแก๊สแล้วรถเกิดอาการดังที่กล่าวมา ท่านก็สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ โดยการสลับกลับมาเป็นน้ำมัน ว่าอาการยังมีปัญหาเหมือนเดิมหรือไม่ และนำรถเข้าตรวจเช็คและแก้ไข ต่อไป
ปัญหาของเครื่องยนต์เบนซิน
ตอนที่ 3 (กำลังอัดในกระบอกสูบมีไม่มากพอ)
ปัญหาเรื่องกำลังอัดของกระบอกสูบที่ไม่เท่ากัน ในแต่ละสูบ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการสึกหรอของเครื่องยนต์เป็นหลัก โดยอาจจะเป็นเรื่องของแหวนลูกสูบ วาล์วไอดีไอเสียและบ่าวาล์ว ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
อาการเริ่มต้น ส่วนใหญ่กรณีนี้จะพบเมื่อเครื่องยนต์พึ่งจะถูกสตาร์ทขึ้นมาใหม่ หลังจากที่จอดไว้จนเครื่องเย็น หลังจากที่เครื่องยนต์ร้อนแล้วอาการจะน้อยลงถึงขั้นหายเป็นปกติ เมื่อท่านผู้ขับขี่ขับรถเข้ามาให้ช่างตรวจสอบมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น จนกว่าการสึกหรอของเครื่องยนต์มากจนวาล์วปิดไม่สนิทแล้ว
การทดสอบอาจจะต้องถอดหัวเทียนแล้วใช้เครื่องมือวัดกำลังอัด หรืออาจจะพิจารณาจากสีของหัวเทียน ประกอบกับเวลาการจ่ายน้ำมันก็ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของช่างผู้วิเคราะห์ปัญหา ซึ่งจะได้วิเคราะห์ปัญหาในบทความต่อไป
ปัญหาของเครื่องยนต์เบนซิน
ตอนที่ 4 (ประกายไฟที่กระโดดข้ามเขี้ยวหัวเทียนแรงไม่พอ)
ประกายไฟที่หัวเทียน นับเป็นหัวใจหลักของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน หรือเครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์จะทำงานได้สมบูรณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของไฟที่เกิดที่เขี้ยวหัวเทียนด้วย ดังนั้นควรให้ความใส่ใจกับระบบจุดระเบิดให้มาก
เมื่อประกายไฟที่ออกที่เขี้ยวหัวเทียนน้อยกว่าปกติและไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากผู้ขับขี่จะรู้สึกได้ในขณะที่เร่งเครื่องยนต์ โดยปกติรถจะพุ่งออกตัวได้ดีเมื่อผู้ขับขี่เหยียบคันเร่ง แต่ถ้าประกายไฟที่หัวเทียนไม่มากพอหรือไม่สม่ำเสมอ รถจะเกิดอาการกระตุกก่อนในช่วงแรกที่เหยียบคันเร่ง หลังจากนั้นรถจะวิ่งเป็นปกติ
แต่ถ้าปัญหาเกิดมากถึงขั้นที่เครื่องเดินไม่เต็มสูบ อย่างเช่นรถยนต์ 4 สูบ ทำงานแค่ 3 สูบ รถจะเกิดอาการสั่นอย่างรุนแรงในขณะที่จอดอยู่กับที่ และเร่งไม่ขึ้นในขณะขับขี่ ซึ่งปัญหาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับรถคันนั้นๆ เช่นรถที่ยังใช้ระบบจุดระเบิดโดยมีจานจ่าย สายหัวเทียน ก็อาจะเกิดจากจานจ่ายเองมีน้ำมันเครื่องรั่วเข้าไป ทำให้จ่ายไฟไปยังหัวเทียนน้อย หรือสายหัวเทียนชำรุด เป็นต้น